วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ว่าด้วยเรื่องของภาษา


          

          ผมได้อ่าน 10 ภาษาที่เรียนยากที่สุดในโลก จากเพจ ๆ หนึ่งใน Facebook ซึ่งภาษาอังกฤษ เรียนยากเป็นอันดับ 9 ของโลก ภาษาญี่ปุ่น เรียนยากเป็น อันดับ 5 ของโลก ภาษาจีน เรียนยากเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ของโลก (ผมจำไม่ได้อย่างแน่ชัดว่า ภาษาจีน อยู่อันดับที่เท่าไหร่ แต่อยู่ต้น ๆ ครับ)

          ซึ่งผมก็อยากจะแชร์ประสบการณ์การที่ผมเคยเรียนมาทั้ง 3 ภาษานะครับ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และ ภาษาจีน

          ภาษาอังกฤษ ผมคงไม่ต้องพูดถึงมากนัก เพราะผมเชื่อว่า ทุกท่านเคยผ่านประสบการณ์การเรียนภาษาอังกฤษกันมาแล้ว ได้รู้ว่า กริยา 3 ช่อง เป็นยังไง Tense ทั้ง 12 Tense มีอะไรบ้าง มีวิธีการใช้อย่างไร ซึ่งผมก็ต้องยอมรับตามตรงว่า Tense ทั้ง 12 Tense ผมก็จำได้ไม่หมดเช่นกันครับ

          ภาษาจีน ปัจจุบันผมก็ยังเรียนอยู่ ในบทความที่บทอ่านจาก Facebook คนเขียนได้บอกว่า ภาษาจีน ยากในการออกเสียง ซึ่งผมว่า "จริง" ครับ

          ในตอนแรกที่ผมเรียนภาษาจีน ผมก็มีปัญหาเกี่ยวกับการออกเสียงภาษาจีนบางคำ ที่ยังออกได้ไม่ชัดเจน แต่พอผมได้เรียนไปสักประมาณ 3-4 คอร์ส ปัญหานี้ก็ทุเลาลงไปครับ แต่ก็ยังไม่หมดไปซะทีเดียว ต้องเรียนไปเรื่อย ๆ ครับ จนลิ้นเริ่มชินกับการออกเสียง

          เหตุที่ทำให้ภาษาจีนออกเสียงยาก ตามความคิดผมคิดว่าน่าจะมาจาก ภาษาจีน จะถูกกำกับด้วยวรรณยุกต์ (ภาษาจีน มีวรรณยุกต์ 4 เสียง คือ สามัญ จัตวา เอก โท) ซึ่งอาจจะไม่คุ้นกับคนไทย หรือคนต่างชาติที่ไม่ใช่คนจีนครับ

          ภาษาจีน นอกจากจะออกเสียงยากแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ยากไม่แพ้กันก็คือ การเขียน ครับ เพราะภาษาจีน พัฒนามาจาก ตัวอักษรรูปภาพ โดยส่วนมากแล้ว 1 ตัวอักษร ก็จะมีความหมายของตัวมันเองครับ และการเขียนภาษาจีน ก็ต้องอาศัยการจำเข้ามาช่วยด้วย ภาษาจีนมีตัวอักษรเป็นพันนะครับ ประมาณ 4,000 กว่าตัว น่าจะได้ครับ แต่ใช้บ่อยก็ประมาณ 2,000 กว่าตัวครับ คิดแค่นี้ก็ท้อแล้วครับ

          ตัวอักษรภาษาจีน จะมี 2 ชนิดนะครับ แบบที่เป็นตัวเต็ม และ แบบที่เป็นตัวย่อ จะแตกต่างกันตรงที่ ถ้าเป็นตัวเต็ม จะใช้ที่ ประเทศไต้หวัน แต่ถ้าตัวย่อ จะใช้ที่ ประเทศจีน แต่คนที่เรียนภาษาจีนในปัจจุบัน ส่วนมากแล้วก็จะเรียนเป็นตัวย่อครับ ตัวย่อจะเขียนง่ายกว่าตัวเต็มครับ ขีด เส้น จะน้อยกว่า และตัวอักษรแบบย่อ ก็จะไม่เหมือนแบบเต็ม ครับ ไม่เหมือนบางตัวนะครับ ไม่ใช่ทุกตัว

          แต่สิ่งหนึ่งที่ภาษาจีนดูง่ายก็คือ มีส่วนคล้ายกับภาษาไทยครับ นอกจากนั้นแล้ว ภาษาจีน ยังไม่มีการผันรูป ปัจจุบัน อดีต อนาคต เหมือนกับภาษาอังกฤษ รูปประโยคอดีต ก็ใส่คำว่า "แล้ว" "เมื่อก่อน" ฯ หรือศัพท์ที่บ่งบอกว่ามันเป็นอดีต ซึ่งตรงนี้จะคล้ายกับภาษาไทยครับ

          ในส่วนของภาษาญี่ปุ่น เท่าที่ผมเรียนมา ใน 3 ภาษา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่นนี่ยากที่สุดแล้วครับ แค่ตัวคาตากานะ ฮิรานางะ ก็ต้องจำเป็นร้อยตัวแล้วครับ นี่ยังไม่รวมต้องจำตัวคันจิอีกนะครับ ตัวคันจิ ที่ญี่ปุ่นยืมมาจากจีน ก็น่าจะขึ้นหลักพันตัวค แต่ผมไม่รู้จำนวนที่แน่นอนนะครับ

          ตัวคันจิในภาษาญี่ปุ่น บางที 1 ตัวอักษร สามารถอ่านได้ 2-3 เสียง เลยนะครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับรูปประโยค ว่าจะอ่านว่าอะไรในประโยคนั้น ๆ

          ยังมีการผันรูป ปัจจุบัน อดีต อนาคต อีกด้วยนะครับ ซึ่งจะคล้ายกับภาษาอังกฤษ ยังมีคำสุภาพและคำไม่สุภาพ อีกนะครับ คำไม่สุภาพส่วนมากจะใช้กับเพื่อน ๆ ครับ

          รูปประโยคของภาษาญี่ปุ่น บางประโยค ก็เอาคำกริยาไปอยู่ท้ายสุดของประโยค รูปประโยคในภาษาญี่ปุ่น ก็ยาวมาก ๆ ครับ เรียกได้ว่า พูดจบประโยคเล่นเอาเหนื่อยกันเลยทีเดียว

          แต่ไม่ว่าจะเรียนภาษาอะไรก็ตาม สำคัญคือ อยู่ที่การใช้ครับ ถ้าเรียนแล้วมีโอกาสได้ใช้บ่อย ๆ ผมว่าจากคำว่า "ยาก" อาจจะกลายเป็นคำว่า "ง่าย" ก็ได้ครับ เพราะภาคปฏิบัติจริง ย่อมดีกว่าภาคทฤษฎี อยู่แล้วครับ


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น